จังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องในวันระลึก “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ประจำปี พ.ศ. 2568
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องหอประชุมจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีวันระลึก “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” โดยมีนายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ว่าที่ร้อยตรี กรกฎ ประเสริฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายภูษิต น้อยโสภากุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เหล่ากาชาดจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการการ ข้าราชการ
ร่วมเป็นเกียรติในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประจำปี พ.ศ.2568 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศพระเกียรติคุณ ในการแสดงความจงรักภักดี แสดงความกตัญญูกตเวที ต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2310 และสืบพระราชสันตติวงศ์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2352 ในรัชสมัยของพระองค์ ราชอาณาจักรไทยเริ่มเข้าสู่ความสงบ และมีความปีกแผ่นเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ
เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์ และดนตรี ทรงเป็นอัครกวี มีพระราชนิพนธ์มากมาย อาทิ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรีทรงโปรดปรานซอสามสาย ซอคู่พระหัตถ์ คือ “ซอสายฟ้าฟาด” ทรงพระราชนิพนธ์เพลงที่มีชื่อเสียง โดยพระราชทานนามว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” ทรงส่งเสริมงานช่าง ในด้านการหล่อพระพุทธรูป
โดยปั้นพระพักตร์ พระประธาน ในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อันเป็นพระพุทธรูป ที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของไทย ด้วยพระองค์เอง กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในรัชสมัยของพระองค์ได้นำมาซึ่งความผาสุก สงบ ร่มเย็นของบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงได้รับการกำหนดให้เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” เพื่อประกาศพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะที่ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปิน แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่น หลังสืบไป.