วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 24, 2025
หน้าแรกการเมือง"ภูมิธรรม - ธีรรัตน์" ประชุม War room กองบัญชาการ ปภ. ชาติ ติดตามผลกระทบพายุ "วิภา" ย้ำ...

“ภูมิธรรม – ธีรรัตน์” ประชุม War room กองบัญชาการ ปภ. ชาติ ติดตามผลกระทบพายุ “วิภา” ย้ำ “การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น” พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

กดที่นี่เพื่ออ่านข่าว

ภูมิธรรม – ธีรรัตน์ ประชุม War room กองบัญชาการ ปภ. ชาติ ติดตามผลกระทบพายุ “วิภา” ย้ำ “การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น” พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที และติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง 

วันที่ 23 ก.ค. 68 เวลา 09.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์พายุวิภา โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 30 จังหวัด และผู้แทนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)

อาจเป็นรูปภาพของ 8 คน, โทรทัศน์ และ ข้อความ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสาธารณภัยเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ดังนั้น “การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง” โดยเฉพาะการนำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast” มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการรับมือภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น จึงขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยง เพื่อสามารถเข้าปฏิบัติงานได้อย่างทันท่วงที

อาจเป็นรูปภาพของ 8 คน และ ข้อความ

“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน หากเรามีการเตรียมการที่ดีและมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากกว่าการเยียวยาในภายหลัง แต่เมื่อเกิดเหตุแล้ว การเยียวยาอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชน จึงขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขของประชาชนทุกคน” นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติม

อาจเป็นรูปภาพของ 4 คน และ ข้อความ

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตามสถานการณ์ของพายุ “วิภา” ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในขณะนี้พายุจะอ่อนกำลังลง แต่เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องโดยไม่ละเลยได้ ซึ่งตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนได้มีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำไหลหลากในหลายพื้นที่ สิ่งสำคัญคือ “การร่วมสื่อสารให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” รวมถึงการให้ความช่วยเหลือที่เป็นไปอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน

อาจเป็นรูปภาพของ 3 คน, โทรทัศน์ และ ข้อความ

นางสาวธีรรัตน์ ได้เน้นย้ำแนวทาง 6 ข้อเพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ได้แก่

1. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยยึดหลักการรักษาชีวิตของประชาชนผู้ประสบภัยเป็นเรื่องสำคัญ และผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปปฏิบัติงานต้องได้รับความปลอดภัยอย่างสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน

2. การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมาก รวมถึงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ดินถล่มเนื่องจากปริมาณฝนสะสมหรือฝนตกกระหน่ำ ที่เราเรียกว่า “เรนบอม”  ซึ่งต้องแจ้งเตือนประชาชน และหากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือจุดที่รองรับการอพยพไว้ก่อน เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน

3. บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพตามแผนเผชิญเหตุที่แต่ละพื้นที่ได้กำหนดไว้ โดยมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เป็นศูนย์ควบคุมสั่งการและอำนวยการในการระดมสรรพกำลัง ตลอดจนประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้แบ่งและมอบหมายให้มีความรับผิดชอบในภารกิจอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนในการปฏิบัติงาน

อาจเป็นรูปภาพของ 11 คน, ห้องข่าว, แท่นบรรยาย และ ข้อความ

4. ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ดูแลด้านการดำรงชีพ จัดตั้งโรงครัวเพื่อประกอบอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีคุณภาพ การแจกถุงยังชีพต้องมีมาตรฐาน พร้อมทั้งดูแลสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ดูแลด้านความสงบเรียบร้อย ป้องกันการเกิดอาชญากรรม การลักขโมยทรัพย์สิน จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม การปิดเส้นทางคมนาคมที่มีน้ำท่วมขังซึ่งเป็นอันตรายต่อการสัญจรพร้อมติดป้ายและเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนอำนวยความสะดวก และจัดเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย ตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หากมีความเสี่ยงให้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าทันที โดยเฉพาะในเขตชุมชนและเขตสถานศึกษา 5. ในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านชีวิต ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย พื้นที่เกษตร สิ่งสาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชน์ พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ต้องให้การช่วยเหลือเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครอบครัว และ 6. เรื่องการรายงานสถานการณ์ ให้ศูนย์อำนวยการกลางของแต่ละจังหวัดรายงานสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงการให้การช่วยเหลือให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบด้วยข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อลดความสับสนของพี่น้องประชาชน และให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน, แท่นบรรยาย และ ข้อความ

ด้าน นายภาสกร กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ผลกระทบเหตุการณ์อิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” เชิงรุกอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นก่อนเกิดพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ โดยจัดตั้ง War room ประสานหน่วยงานทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ในทุกจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก และมีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านระบบ Cell Broadcast ได้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในด้านอุทกภัย 15 ครั้ง ดินโคนถล่ม 9 ครั้ง รวมทั้งหมด 24 ครั้ง

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ข้อความ

“สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่เฝ้าระวัง จังหวัดน่าน ที่อำเภอเชียงกลาง มีปริมาณน้ำฝนสะสมในรอบ 24 ชั่วโมง 291.6 มิลลิเมตร จังหวัดพะเยา ที่อำเภอเชียงคำ ปริมาณน้ำฝนสะสม 264 มิลลิเมตร จังหวัดเชียงราย ที่อำเภอเวียงแก่น ปริมาณน้ำฝนสะสม 185 มิลลิเมตร ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักรกล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ ปภ.เขตนอกพื้นที่เข้าสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ภาคเหนือ

โดยมีจุดรวมพลอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ได้ปฏิบัติการระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เครื่องสูบน้ำระยะไกล ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยโดยเรือยนต์และเรือท้องแบน รวมทั้งได้นำอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ประจำการที่ฐานการบินจังหวัดเชียงใหม่เตรียมพร้อมเพื่อออกปฏิบัติการช่วยเหลือให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เพื่อพร้อมปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้ประสานการปฏิบัติกับจังหวัดโดยให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว เตรียมการดูแลด้านการดำรงชีพ จัดเตรียมบริการด้านการแพทย์สาธารณสุข การบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งเตรียมความพร้อมทรัพยากรเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังพล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการประจำพื้นที่ รวมทั้งเร่งสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน และเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วเมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ” นายภาสกร กล่าว

อาจเป็นรูปภาพของ ‎1 คน และ ‎ข้อความพูดว่า "‎له ปก.‎"‎‎

นายสมควร ต้นจาน กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในเวลา 01.00 น. ของวันนี้ พายุโซนร้อนวิภาเคลื่อนผ่านจากทางประเทศเวียดนามเข้าสู่ สปป.ลาว อ่อนกำลังลงไปเป็นพายุดีเปรสชั่น หลังจากนั้นในช่วงเช้าวันนี้ เมื่อเวลา 07.00 น. ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำทางตะวันออกของจังหวัดน่าน ซึ่งสถานการณ์ในวันนี้จากภาพถ่ายดาวเทียมมีเมฆฝนปกคลุมในบริเวณภาคเหนือของทุกจังหวัด และบริเวณภาคกลางจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์ ในภาคอีสานมีท้องฟ้าเปิดมากขึ้น ปริมาณฝนเบาบางลง อย่างไรก็ตาม แม้พายุจะมีความอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว แต่ยังมีผลกระทบกับบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากตลอดทั้งวันนี้ โดยเฉพาะโซนทางทิศตะวันตก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปางลำพูน และตาก รวมถึงทางภาคเหนือยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ปริมาณน้ำฝนที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน วัดได้ 162.5 มม. ในส่วนแนวโน้มสถานการณ์ พายุจะสลายตัวไปและอ่อนกำลังลง ซึ่งในส่วนที่ต้องติดตาม คือ ร่องมรสุมที่อาจเกิด และความกดอากาศต่ำในด้านตะวันออกฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพายุดีเปรสชั่นมีทิศทางเคลื่อนตัวผ่านภาคเหนือคาดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย.

Ad 1
Ad 2
pratipon47
pratipon47http://www.เรื่องจริงผ่านเลนส์.online
ผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ