เจ้าฟ้าทีปังกรฯ ทรงบรรลุนิติภาวะ เจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา 29 เมษายน 2568
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568 อันเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในวันนี้เจ้าฟ้าชั้นเอกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 (หน้า 8) บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ บีบีซีไทยจึงได้รวบรวมพระประวัติของพระองค์ เพื่อนำออกเผยแพร่เนื่องในวโรกาสอันเป็นมงคลนี้
ประสูติกาล
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะที่พระมารดายังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 ในเวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายพระประสูติด้วยวิธีการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเมื่อเวลา 19.00 น.
ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นพระอัยกา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาเพื่อขนานพระนามพระราชนัดดาว่า “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งพระราชทานเสมาทองคำจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ตามธรรมเนียมที่จะพระราชทานให้โอรสธิดาของพระราชวงศ์ชั้นหม่อมหลวงขึ้นไป รวมทั้งบุตรธิดาของข้าราชการในพระองค์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาอธิบายถึงความหมายแห่งพระนามของพระเจ้าหลานเธอว่า “ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง” และต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม ของปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นภาษาอังกฤษ ว่า His Royal Highness Prince Dipangkorn Rasmijoti
พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ตามพระราชประเพณี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้นทรงเจริญพระชันษาครบ 1 ปี ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2549 กรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ชนิดราคา 50 บาท ทำด้วยทองแดงผสมนิกเกิล น้ำหนัก 21 กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 36 มิลลิเมตร ลวดลายด้านหน้ากลางเหรียญมีพระรูปพระเจ้าหลานเธอฯ ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย
พระนาม “ทีปังกร” สื่อความหมายพิเศษ
เนื้อหาในคัมภีร์พุทธวงศ์ ซึ่งเป็นปกรณ์หนึ่งในพระไตรปิฎกระบุว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่มาอุบัติในโลกเมื่อ 4 อสงไขยแสนกัปที่แล้ว โดยนับเป็นพระอดีตพุทธเจ้าในลำดับที่ 24 หากนับย้อนไปจากพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน
ในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ได้เสวยพระชาติเป็นฤๅษีนามว่าสุเมธดาบส ซึ่งได้บำเพ็ญบารมีด้วยการนอนทอดตนบนเปือกตม เพื่อให้พระทีปังกรพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวกเหยียบข้ามไปโดยโคลนไม่เปรอะเปื้อนร่างกาย สุเมธดาบสจึงได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลอย่างเที่ยงแท้แน่นอน โดยจะมีพระนามว่าพระโคตมพุทธเจ้า (สมณโคดม)
พระนาม “ทีปังกร” นอกจากจะหมายถึงผู้จุดไฟหรือแสงสว่างแห่งปัญญาให้เกิดขึ้นแล้ว ยังสื่อความหมายถึงการสืบทอดพุทธวงศ์ หรือวงศ์ตระกูลของพระพุทธเจ้าที่มาอุบัติเพื่อตรัสรู้สืบต่อกันอีกด้วย คติธรรมราชาของไทยนั้นถือว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์คือพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ดังนั้นการขนานพระนามของพระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอตามคติทางพุทธศาสนาดังกล่าว จึงสื่อแสดงถึงนัยสำคัญของการสืบทอดพระบรมราชจักรีวงศ์นั่นเอง
ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 อาจถือได้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงเป็นทายาทโดยสันนิษฐาน (heir presumptive) หรือที่ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน สาขานิติศาสตร์ เรียกว่า “บุคคลที่ถือว่าเป็นทายาท”
ทายาทโดยสันนิษฐาน หมายถึงผู้สืบเชื้อสายที่มีสิทธิจะได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง หรือทรัพย์สิน ในลำดับแรกก่อนผู้สืบเชื้อสายคนอื่น ๆ แต่การเป็นทายาทโดยสันนิษฐานนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งทางการที่มีการแต่งตั้งรับรองอย่างชัดเจน เพราะสามารถมีผู้สืบเชื้อสายซึ่งมีสิทธิในการสืบทอดมากกว่ามาแทนที่ได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก “ทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง” (heir apparent) ถือกำเนิด ซึ่งบุคคลนี้เป็นทายาทที่มีการรับรองสิทธิอย่างเป็นทางการ และมีการรับประกันว่าจะได้สืบทอดบรรดาศักดิ์หรือทรัพย์สินอย่างแน่นอน โดยแทบจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการ สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์และเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นพระราชโอรส ได้ทรงเจริญวัยตั้งพระทัยศึกษา และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยกุมารได้อย่างดียิ่ง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกหมู่เหล่า สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี”
“จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร กับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑”
“ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ”
การศึกษา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับปฐมวัยที่โรงเรียนจิตรลดาในพระราชวังดุสิต โดยทรงเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ อาทิ กิจกรรมสัปดาห์รักการอ่าน ทั้งยังทรงร่วมกิจกรรมการแสดงในงานของโรงเรียนด้วย ก่อนจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี
แรกเริ่มทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติบาวาเรีย (Bavarian International School – BIS) ที่เขตไฮม์เฮาเซนทางตอนเหนือของนครมิวนิกในรัฐบาวาเรีย ซึ่งมีนักเรียนมาจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยทรงเข้าศึกษาในหลักสูตร International Baccalaureate (IB) หรือหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับเยาวชนก่อนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติทุกแห่งในกว่า 156 ประเทศ
เว็บไซต์ของโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์กรุงเทพฯ ระบุว่าข้อดีของหลักสูตร IB คือการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจได้ ไม่มีวิชาภาคบังคับแบบหลักสูตรการศึกษาทั่วไป เนื้อหาของบทเรียนยังมีความเป็นกลาง ปราศจากอิทธิพลทางการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมทั้งปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ และมุมมองที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างโดยปราศจากอคติ
ในภายหลังทรงย้ายไปเข้าศึกษาในหลักสูตรเทียบเท่าชั้นมัธยมปลาย ที่โรงเรียนวาลดอร์ฟชูเลอ (Waldorfschule) ของเยอรมนี ที่เน้นการบูรณาการระหว่างวิชาการในชั้นเรียน กับกิจกรรมส่งเสริมความคิดและจินตนาการนอกห้องเรียน นอกจากนี้ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังทรงเคยเข้ารับการฝึกทางทหารเบื้องต้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน พ.ศ. 2562 อีกด้วย
ทรงสนพระทัยในการบินมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงลองฝึกการบังคับเครื่องบินชนิดต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ได้เสด็จไปยังสนามกีฬากลาง พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในการประทานถ้วยรางวัลพระราชทานและถ้วยรางวัลประทาน แก่ทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับประเภทต่าง ๆ ในรายการ “หนูน้อยเจ้าเวหา”
ทรงศรัทธาในพุทธศาสนาและงานจิตอาสา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงมีพระศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยทุกครั้งที่เสด็จกลับประเทศไทย จะเสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามอยู่เสมอ โดยทรงสนพระทัยในการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้มีสติในการเรียนและการทรงงานในอนาคต ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชก็ได้ทรงสอนวิธีเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง รวมทั้งถวายวิสัชนาตอบพระปุจฉา ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังเสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่เป็นนิจ รวมทั้งขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ก็มักจะเสด็จไปทรงสนทนาธรรม ณ วัดป่ามุตโตทัยอยู่เป็นประจำ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อสนองพระราชดำริในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนตามหลักสูตร “ธรรมนาวา วัง” ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงบำเพ็ญพระกุศลโดยเสด็จไปยังพระอารามหลวงและวัดราษฎร์หลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งยังทรงเป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จไปถวายผ้าพระกฐินตามวัดสำคัญ เช่น ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังใฝ่พระทัยในการทรงงานจิตอาสาเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงร่วมกิจกรรมในโครงการจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ อาทิ ทรงบำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เสด็จไปประทานสิ่งของแก่ตัวแทนจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ และทรงประกอบอาหารประทานให้แก่จิตอาสาในพื้นที่เหล่านั้น
ในหลายครั้งทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี, และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปทรงเยี่ยมราษฎรเพื่อติดตามการดำเนินงานของโครงการจิตอาสาพระราชทาน และโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ ทั้งยังทรงรับเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ สโมสรผู้รักสวนสัตว์แห่งประเทศไทยด้วย.