ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพเททองหล่อพระประธาน (พระพุทธสัมฤทธิ์สีทันดร ) และ รูปเหมือนพระครูกมลภาวนากร (หลวงพ่อสีทน กมโล ) วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
พระครูวิมลปัทมนันท์ (พระครูเบส) เจ้าอาวาสวัดป่าภูปัง หมู่ 10 บ้านพะเนียด ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทางวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ต.ช่องเม็ก อ.สิริธร จ.อุบลราชธานี ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นเจ้าภาพทำบุญสร้างพระประธาน(พระพุทธสัมฤทธิ์สีทันดร ) และ รูปเหมือนพระครูกมลภาวนากร (หลวงพ่อสีทน กมโล ) ในวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ลานวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ต.ช่องเม็ก อ.สิริธร จ.อุบลราชธานี เพื่อประดิษฐานให้เป็นที่สักการะบูชา และเพื่อเป็นสังฆานุสติ
รายละเอียดขนาดพระประธานหน้าตัก 5″นิ้ว สูง 21″ นิ้ว เจ้าภาพ 150,000 บาท หล่อจำนวน 2 องค์ และ รูปเหมือนหลวงพ่อสีทน กมโล ขนาดหน้าตัก 30″ นิ้ว เจ้าภาพองค์ละ 100,000 บาท หล่อ 9 องค์ = 900,000 บาท ร่วมเป็นเจ้าภาพทองเหลืองกิโลกรัมละ199 บาท เจ้าภาพทองเหลืองแท่งขนาดเล็ก = 499 บาท เจ้าภาพทองเหลืองแท่งขนาดกลาง = 999 บาทเจ้าภาพทองเหลืองแท่งขนาดใหญ่ = 1,999 บาท หรือ ร่วมบุญตามกำลังศรัทธาคนละนิดคนละหน่อยได้ที่ ธนาคาร : กรุงไทย เลขที่บัญชี : 983-4-97701-8 ชื่อบัญชี : วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือ ธนาคารกรุงไทย เลขบัญชี 984-2-01187-9 ชื่อบัญชี พระครูปัญญาวโรบล (เจ้าอาวาสวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว) ติดต่อสอบถามรายละเอียด ได้ที่ พระอาจารย์โต้ง 089-8658225 หมายเหตุ : ในกรณีที่มีปัจจัยเกินจากค่าดำเนินการ ทางวัดจะพิจารณานำไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่นต่อไป
ประวัติพระพุทธสัมฤทธิ์สีทันดร พระประธานประดิษฐาน ณ หอบูรพาจารย์ศาลา ๓ หลัง วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีดังนี้
วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒ พระครูกมลภาวนากร ได้นำพาคณะศิษยานุศิษย์มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ซึ่งในปีนั้นพระสงฆ์จำเป็นต้องสัตตาหะหมุนเวียนระหว่างวัดภูหล่นมาวัดภูพร้าวเพราะเป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี เมื่อถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๓ โยมมณี ดาวกระจ่าง ได้นำพระพุทธรูปปางประธานพรมาถวายเพื่อประดิษฐาน ณ ศาลาการเปรียญเป็นองค์แรก
หลวงพ่อสีทนจึงได้มีดำริว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านธุดงค์มาปักกลดภาวนาและอธิฐานขอตั้งเป็นวัดขึ้น ท่านจึงได้ปรารภการสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญขึ้นเพื่อประดิษฐานไว้ ณ อาวาสนี้ โดยสร้างเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ทองแดง ด้วยอานุภาพแห่งสัมฤทธิ์ย่อมดลบันดาลให้สำเร็จบรรลุได้ตามประสงค์
พ.ศ.๒๕๔๕ ครอบครัวคุณมณี ดาวกระจ่าง จึงสร้างพระสัมฤทธิ์ปางขัดสมาธิเพรชเป็นศิลปะเชียงแสน สิงห์ ๑ ร่วมสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจากลังกาและพุกาม จึงมีความสง่างาม นับเป็นศิลปะคลาสสิคที่สุดของประเทศ จุดเด่นคือ พระพักตร์รูปไข่ ดูแล้ว สงบ ขมวดพระเกศาเล็ก และที่สําคัญคือ พระรัศมีเป็นเปลว สังฆาฏิเป็น เส้นเล็กยาวลงมาจรดพระนาภี
ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๘ พระพุทธสัมฤทธิ์สีทันดร ประดิษฐาน ณ หอบูรพาจารย์ศาลา ๓ หลัง โดยมีรูปเหมือนพระบูรพาจารย์ ประดิษฐานเป็นลำดับดังนี้ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ หลวงปู่กิ ธัมมุตตโม หลวงปู่สาย จารุวัณโณ หลวงพ่อสีทน กมโล
กาลนี้ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธีเททองหล่อพระประธานพระพุทธสัมฤทธิ์สีทันดรและรูปเหมือนพระครูกมลภาวนากร(หลวงพ่อสีทน กมโล)เพื่อประดิษฐานไปยังวัดสาขาต่างๆของท่าน ตามหมายกำหนดการดังกล่าวโดยพร้อมเพียงกัน
ประวัติพระครูกมลภาวนากร (สีทน กมโล) มีดังนี้
พระครูกมลภาวนากร นามเดิม สีทน รักพงษ์ เกิดวันอังคารที่ ๑๔ สิงหาคม ฑ.ศ. ๒๔๙๓ ที่บ้านดอนจิก ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ เต็ง มารดาชื่อ จันดี มีอาชีพทำนา
พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านจึงได้ตัดสินใจบรรพชาและอุบสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ อุโบสถ วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูพิบูลธรรมภาณ (หลวงปู่โชติ อาภัคโค) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอาจารย์บุญเย็น และ ท่านพระอาจารย์บุญศรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “กมโล ภิกขุ” แปลว่า “ผู้งามดั่งดอกบัว”
ในช่วงสมัยนั้น หลวงปู่ดี ฉันโน พำนักอยู่ในวัดภูเขาแก้ว ท่านเป็นศิษย์ในสายพระกรรมฐานหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมื่อทำการอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อทน กมโล ก็ได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ตลอดจนศึกษาเล่าเรียนในทางภาคปริยัติธรรมอันเป็นเสมือนแผนที่นำสู่ภาคการปฏิบัติจนได้รับผลปฏิเวธทางจิตเพื่อมุ่งสู่จิตวิมุตติหลุดพ้นออกจากวัฏสงสารต่อไป
เข้าพรรษาแรกแห่งการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ของหลวงพ่อสีทน กมโล ได้พำนักจำพรรษา ณ วัดภูเขาแก้ว พอออกพรรษาหลวงพ่อสีทนก็ได้ออกวิเวกสู่แดนสัปปายะเพื่อการอบรมจิตภาวนาตามป่าเขา พอถึงช่วงเข้าพรรษาจึงได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดภูเขาแก้ว เพื่อศึกษาและเรียนด้านพระปริยัติจนถึงพรรษาที่ ๓ ก็สามารถสอบได้นับธรรมชั้นเอก
หลวงพ่อสีทนเป็นพระผู้เคร่งในพระธรรมวินัย เต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยวในการเจริญภาวนาและขันติบารมี ในช่วงแรก ครูบาอาจารย์ได้พาท่านนั่งกรรมฐานแบบเนสัชชิก คือ ภาวนาตลอดทั้งคืนในป่าช้าข้างวัด จิตดิ่งสู่ความสงบ เกิดนิมิตเป็นความสว่างทั้ง ๆ ที่เป็นกลางคืน
พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วยอุปนิสัยสนใจปฏิบัติ ท่านได้ไปขอต่อนิสัยกับครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน อาทิ หลวงปู่หงส์ หลวงปู่ทองรัตน์ หลวงปู่บุญมาก หลวงปู่กิ หลวงปู่สาย และออกธุดงค์ออกไปฝั่งลาว จำปาสัก ดอนโขง เขมร และได้รับคำแนะนำให้ไปฝึกจิตภาวนาที่ผาแต้ม ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะกับการฝึกจิตมาก เพราะเป็นสถานที่ที่มีวิญญาณมากมาย เมื่อหลวงพ่อไปภาวนาอยู่ที่นั่นจิตสงบมาก ภาวนาทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ยอมตากแดด ตากฝน เพราะได้กำลังใจจากผลของการปฏิบัติ ได้พบความอัศจรรย์เกิดขึ้นหลายอย่าง
จากนั้นหลวงพ่อสีทน กมโล ก็ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมจนได้หลักจิตหลักใจด้านจิตตภาวนาจาก หลวงปู่สาย จารุวัณโณ ที่ตั้งใจว่าเมื่อธุดงค์กลับจากนครจำปาสักจะลาสิกขาทันที หลวงปู่กิ ธัมมุตตโม จึงได้ให้อุบายออกไปปฏิบัติภาวนาตามสถานที่ป่าเขา ลำเนาไพร (เหมือนอุบายของ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พา หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่คิดอยากลาสิกขาออกสู่เพศฆราวาส ท่านจึงพาออกมาภาวนายังสถานที่ภูหล่น)
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ในการนั้นพระครูพิบูลธรรมภาณ (หลวงปู่โชติ อาภัคโค) วัดภูเขาแก้ว ท่านไปนิมนต์หลวงปู่กิมาอยู่วัดป่าสนามชัย หลวงพ่อสีทนขณะนั้นรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าสนามชัย อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ท่านจึงได้มีโอกาสปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ หลวงปู่กิ อย่างใกล้ชิด
พ.ศ. ๒๕๒๗ หลวงพ่อสีทน กมโล ทราบเรื่องสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เสาร์หลวงปูมั่น จากพระภิกษุรูปหนึ่ง นามว่า พระชาตรี ทิฏฐธัมโม (พระครูสุทธาจารวัตร) ที่ลงมาจากภูหล่นได้เล่าให้ฟังว่า
“ท่านอาจารย์ควรหาเวลาขึ้นไปพักวิเวกที่ภูหล่นบ้าง เพราะเป็นสถานที่บูรพาจารย์เคยมาพักจำพรรษาและสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมไว้ ขณะนี้ได้ชำรุดผุพังลงเกือบหมดแล้ว เพราะขาดการดูแลรักษา ไฟป่าไหม้ขึ้นมาทุกปี มีเพียงพระธุดงค์มาพักเป็นครั้งคราวเท่านั้น เนื่องด้วยสถานที่ทุรกันดารขาดแคลนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก ท่านอาจารย์ควรออกไปดูบ้าง”
กาลนั้น หลวงปู่กิ หลวงปู่โชติ หลวงพ่อสีทน จึงได้นำพาคณะศิษย์ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์
วัดภูหล่น ปฐมสมถ-วิปัสสนา ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๘
พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงพ่อสีทน กมโลและคณะศิษย์เดินทางมาบูรณะภูพร้าวตามคำอาราธนานิมนต์ จากทางหน่วยราชการทหารตำรวจ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่บุญมาก และถูกปล่อยให้รกร้างมาร่วม ๓๐ ปี
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว : อนุสรณ์สถานพระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ
พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาแก้ว และเจ้าคณะตำบลพิบูล (ธรรมยุต) อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
สมัยนั้น พันตำรวจเอกไพบูลย์ สอางชัย ผกก.ตชด.ที่ ๒๒ อุบลราชธานี ได้ช่วยดูแลการสร้างวัดและให้นิยามภูมดง่ามว่าเป็นฐานไทย ภูพร้าวซึ่งอยู่ใกล้กันเป็นฐานธรรม ให้เป็นความสัมพันธ์เชื่อมความมั่นคงระหว่างไทย-ลาว
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๗
พ.ศ. ๒๕๔๘ วางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ โดยจำลองรูปแบบวัดเชียงทอง หลวงพระบาง สปป.ลาว นำศิลปะล้านนา-ล้านช้างมาประยุกต์จนเกิดเป็นศิลปะร่วมสมัยได้อย่างน่าอัศจรรย์
หลวงพ่อสีทนเป็นพระนักปฏิบัติ พัฒนาและเทศนา มีความเมตตา เด็ดเดี่ยวและสุขุมในข้ออรรถข้อธรรม ท่านจะสอนศิษย์เสมอให้ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป ไม่ตำหนิเพ่งโทษผู้อื่น อดทนอดกลั้น ภายนอกอ่อนโยน ภายในมีความเข้มแข็ง ตลอดชีวิตการอุปสมบท ท่านได้อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและประโยชน์แก่สังคมมาโดยตลอด มรดกธรรมที่ท่านได้ฝากไว้แก่ศิษยานุศิษย์รุ่นหลังนั้นมีมากมาย
“เรื่องพระพุทธศาสนานั้นมีความจำเป็นและสำคัญมากสำหรับโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องมีกาย วาจา ใจ ที่เรียบร้อย สามีภรรยาต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แล้วจะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข สงบ ถ้าบ้านนั้นมีแต่ความสงบสุข บ้านนั้นบรรลุนิพพาน สามรภรรยาคู่นั้นเรียกว่าคู่นิพพาน นิพพาน แปลว่าความเย็น ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนในชาตินี้มีแต่ความร่มเย็น สงบสุข ประเทศนั้นก็บรรลุนิพพาน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องมีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจำเป็นต้องวางพื้นฐานเด็ก ๆ และเยาวชนให้เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วางพื้นฐานที่สำคัญด้านจิตใจ พระพุทธศาสนาสอนให้คนมีศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งปัญญา คือ ความสว่าง ถ้าใครไม่มีถือว่าเป็นคนบ้าใบ้ ตาบอด ศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ในตัวของทุกคน ทุกคนมีของดีอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จักนำของดีมาใช้ เหมือนเรามีคอมพิวเตอร์ แต่ไม่รู้จักกดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัวเราคือศาสนา พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง และสอนให้ละนิวรณ์ทั้ง ๕ คือ ละจากกาม พยาบาท ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านและความหดหู่ใจ ถ้าละได้จิตจะหลุดพ้นเข้าสู่อริยบุคคลได้ อริยบุคคลคือบุคคลที่โลกต้องการ”
ท่านละสังขาร เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๐๔.๑๕ น. สิริรวมอายุ ๕๖ ปี พรรษา ๓๔ ณ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ท่านได้ทิ้งปัจฉิมลิขิตไว้ให้แก่ศิษยานุศิษย์ว่า “จงเอาธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง อย่าเอาหรือแสวงหาอย่างอื่นให้วุ่นวาย และจงตั้งตนไว้ในความไม่ประมาททุกเมื่อ ก็จะเป็นผู้อุดมมั่งคั่งสมดังปรารถนาทุกประการ จบและลาจากกันเพียงเท่านี้” พุทโธ สุคโต
///////////////-///////////////////////////////